top of page

มาทำความเข้าใจเทคโนโลยี Blockchain กัน เพื่อป้องกันความสับสน(ตอนที่ 3)

จากบทความก่อนหน้านี้คงได้เห็นข้อแตกต่างของ public blockchain และ private blockchain กันแล้ว ในตลาด ณ วันนี้ ก็มีคนกล่าวถึงเรื่องยุคสมัย ของ blockchain ว่าตอนนี้เราก้าวสู่ยุค blockchain 3.0 แล้ว ที่บางคนเรียกว่า ยุค Dapp (Decentalized Application) ซึ่งเป็นยุคการนำเทคโนโลยี blockchain เข้าไปใช้ในธุรกิจ ความจริงก็คือ แนวคิดเรื่อง private blockchain ทั้งหมด หรือ DLT ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ แล้ว ยุคสมัย blockchain 1.0 กับ 2.0 มันผ่านมาแล้วตั้งแต่เมื่อไร 1.0 ก็คือยุคสกุลเงินดิจิตอลที่เริ่มจาก Bitcoin ส่วน 2.0 ก็คือยุคที่เกิด smart contract ขึ้นมา จาก Ethereum โดยทั้ง 1.0 และ 2.0 เป็นแนวคิดที่อยู่ใต้กรอบของ public blockchain

ตอนนี้ได้เวลากล่าวถึงว่าในตลาด blockchain ณ วันนี้มีค่ายไหนบ้างที่ค่อนข้างพูดถึงกัน โดยจะขอเน้นที่ค่ายที่รองรับ private blockchain เป็นหลัก เพราะอย่างที่เกริ่นมาข้างต้น เรากำลังก้าวสู่ยุค blockchain 3.0

รูปข้างล่างอ้างอิงจาก Blog ตามลิงค์

https://blog.knoldus.com/2017/08/16/getting-an-insight-of-blockchain/

ค่ายแรก เริ่มจาก Hyperledger ซึ่งได้พูดถึงตั้งแต่ในบทความแรก เป็น blockchain ที่ถูกออกแบบมาโดยตั้งใจใช้เป็น private blockchain ตั้งแต่ต้น และจะเห็นว่าไม่มีการสร้างสกุลเงินดิจิตอลของตัวเองไว้เลย แต่ปัจจุบันนี้ค่ายนี้เริ่มมีการแตก framework เป็น 5 โปรเจคย่อย ลองมาดูว่าแต่ละโปรเจคเป็นอย่างไร โปรเจคที่เริ่มต้นตั้งแต่ก่อตั้งตอนนี้เรียกว่า Fabric กลุ่มนี้บริษัท IBM ถือว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการขับเคลื่อน โดยที่บริษัทต่างประเทศหลายรายเริ่มนำไปใช้กันบ้างแล้ว แม้กระทั่งธนาคารในประเทศไทยหลายรายเริ่มต้นนำร่องทดสอบใช้งานด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นจากธนาคารกสิกรไทย ที่นำไปใช้งานธุรกรรมเกี่ยวกับการรับรองหนังสือค้ำประกัน โดยผ่านบริการ origin cert API ข้อดีของ Fabric คือ การออกแบบให้มี channel ซึ่งสามารถกำหนดการเห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะภายในกลุ่มสมาชิกที่ถูกระบุเท่านั้น ทำให้ข้อมูลที่แชร์มีความเป็นส่วนตัวสูง และ ยังรองรับการเขียนโปรแกรมเพื่อเรียกใช้ได้หลายภาษา โดยเฉพาะภาษาที่ได้รับความนิยม อย่าง java และ javascript นอกเหนือจากภาษา Go ที่เป็นภาษาแรกที่รองรับ และยังมีเครื่องมือชื่อ fabric composer ที่เพิ่มความสะดวกในการ กำหนด สมาชิกและบทบาทของแต่ละสมาชิกที่อยู่ภายใต้เครือข่าย, โครงสร้าง model ของข้อมูล และ rules ของ smart contract เพื่อช่วยลดการเขียนโปรแกรม นอกจากนี้ Fabric ยังสะดวกในการสร้างบริการรับสมัครสมาชิกเข้ามาในเครือข่ายได้ง่าย (Bring your own Membership Service Provider(MSP))

Project ถัดมาที่จะกล่าวถึงของ Hyperledger ที่ชื่อ Sawtooth ได้ถูกพัฒนาและผลักดันโดยบริษัท intel แต่ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายให้การสนับสนุน ได้แก่ Amazon และบริษัทโทรคมนาคม ได้แก่ Huawei และ T-Mobile เป็นต้น Sawtooth เพิ่งมีการประกาศตัว v1.0 ออกมาเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง จุดเด่นอยู่ที่การใช้ผ่านกระบวนการ consensus ที่เรียกว่า Proof of ElapseTime (PoET) ซึ่งต้องอาศัยความสามารถของ CPU รุ่นใหม่ๆ โดย CPU จะต้องรองรับชุดคำสั่งพิเศษที่เรียกว่า Software Guard Extensions (SGX) ที่ถูกพัฒนาจากทาง Intel โดยรองรับความปลอดภัยในการโจมตีสูง ซึ่งการยืนยันทรานแซคชันในเครือข่าย blockchain จะอาศัยความสามารถชุดคำสั่งของ SGX นี้ รูปแบบของการทำ consensus ของ PoET จะคล้ายกับ PoW เป็นแนวคิดของการออกหวย (lotto) เพียงแต่ PoW เราต้องใช้เครื่องที่มีกราฟฟิคการ์ดกำลังสูงมาช่วยประมวลผล สำหรับ PoET จะใช้การสร้าง wait time แบบสุ่ม เพื่อไปยังโหนดทั้งหมดในแต่ละช่วงเวลา โหนดที่ถึงเวลา expire ก่อนก็จะสามารถสร้าง block ได้ โดยกระบวนการนี้ยังมีการออกแบบให้มีการตรวจสอบโหนดที่อาจจะมีการถูกหวยบ่อย หรือมีพฤติกรรมน่าสงสัยแล้วสร้างเป็น blacklist ไว้

ดูเหมือน Sawtooth น่าจะมีแนวคิดเหมือน public blockchain แต่ Sawtooth ถูกออกแบบให้สามารถกำหนดจำนวนสมาชิกหรือโหนดที่สามารถเข้ามายืนยันทรานแซคชันได้ ผ่าน smart contract (on-chain governance) และสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนได้ on-the-fly ในรูปแบบ dynamic consensus รวมทั้งสามารถเลือกใช้ consensus แบบ BFT ได้ด้วยเช่นกัน ทำให้มีคุณสมบัติ permission blockchain อยู่ด้วยบางส่วน เพียงแค่ไม่สามารถกำหนดเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่แชร์ได้ จะเห็นได้ว่าจุดเด่นของ Sawtooth คือการรองรับ blockchain ทั้งในรูปแบบ public และ privateได้ นอกจากนี้ยังสามารถรองรับ smart contract ที่พัฒนาจากค่าย Ethereum ได้ โดยผ่าน component ที่ชื่อ Seth ภายใต้ Sawtooth

Project ถัดมา ชื่อ Burrow เป็น project ที่อาจเรียกได้ว่า private ethereum ซึ่งไว้เล่าในบทความต่อไปสำหรับค่ายอื่นที่มีแนวคิดที่นำ ethereum มาใช้เป็น private โดยบริษัทที่พัฒนา code ให้ project คือบริษัท Monax ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกของ Enterprise Ethereum Alliance(EEA) ซึ่งรองรับการพัฒนา DLT โดยใช้ Ethereum Virtual Machine(EVM) และใช้ consensus แบบ BFT ของ tendermint ซึ่งอ้างว่าเป็น BFT ที่มีประสิทธิภาพสูง Seth ที่ถูกกล่าวถึงข้างต้นใน project Sawtooth คือการทำงานร่วมกันกับ EVM ของ project Burrow

บทความนี้ขอจบก่อนแต่เพียงเท่านี้ ยังเหลือ Hyperledger ที่ยังค้างอยู่ อีก 2 project รวมถึง blockchain ค่ายอื่นๆ นอกเหนือจาก Hyperledger ไว้ยกยอดไปในบทความต่อไป

bottom of page