มาทำความเข้าใจเทคโนโลยี Blockchain กัน เพื่อป้องกันความสับสน (ตอนที่ 1)
เทคโนโลยี blockchain มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในช่วงปีที่ผ่านมา แต่บางทีก็ยังมีความสับสนกันอยู่พอควร โดยมักจะโยงเรื่อง cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิตอล เข้าไปในการพูดถึงเรื่อง blockchain จนเปรียบเสมือนว่า blockchain จะต้องเป็นเรื่อง เงินดิจิตอลไปเสียส่วนใหญ่
จุดเริ่มต้นของ blockchain คงไม่ปฏิเสธว่ามาจาก bitcoin ที่ถูกพัฒนาโดย satoshi nagamoto ตั้งแต่ปี 2008 เป็นจุดเริ่มต้นของสกุลเงินดิจิตอล ซึ่งใช้เทคโนโลยี blockchain เป็นพื้นฐาน ซึ่งถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยขั้นสูง และการประมวลผลแบบกระจาย (decentralized) สกุลเงินดิจิตอลอีกหลายสกุล ก็เริ่มมีการพัฒนาตามมาหลังจากนั้น
จุดเปลี่ยนสำคัญของ blockchain เกิดขึ้นที่ปลายปี 2013 โดยโปรแกรมเมอร์ชื่อ Vitalik Buterin ที่มีแนวคิดต้องการนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ในวงกว้างขึ้น โดยไม่ผูกติดเฉพาะเรื่องเงินดิจิตอล ได้พัฒนา Ethereum ซึ่งเป็น open source platform บนพื้นฐานของเทคโนโลยี blockchain ถึงแม้ Etheruem ก็มีสกุลเงินของตัวเองที่ชื่อว่า Ether แต่ความสำคัญอยู่ที่ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า smart contract ขึ้นมาซึ่งเปรียบเหมือนการทำสัญญาบนเครือข่ายดิจิตอล โดยปกติเงื่อนไขสัญญาธุรกรรมต่างๆที่อยู่บนโลกปัจจุบันทำกันบนกระดาษ smart contact สามารถช่วยให้เรากำหนดเงื่อนไขหรือกฏเกณฑ์ธุรกรรมต่างๆด้วยโปรแกรมที่เราพัฒนาขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกรรมการโอนย้ายสินทรัพย์ระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งรูปแบบของสินทรัพย์ อาจเป็น ที่ดิน,รถยนต์ หรือ อื่นๆอีกมากมาย ซึ่งก่อนที่จะโอนย้ายต้องมีเงื่อนไขที่ใช้ตรวจสอบสภาพหรือประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ก่อนการโอนย้าย โดยสามารถนำ smart contract มาประยุกต์ใช้ได้ นอกจากนี้ จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่าเราสามารถมองสินทรัพย์อื่นๆที่ไม่ใช่แค่ พวก coin หรือเงินดิจิตอล ที่สามารถประยุกต์ใช้บนเทคโนโลยี blockchain ได้ เนื่องด้วยมีความปลอดภัยที่สูงและยากที่จะปลอมแปลง
จากที่กล่าวมา เริ่มมีความคิดที่จะนำ blockchain มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ แต่ปรากฏว่ามีอุปสรรคอยู่ด้วยกัน สองเรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องการรู้ตัวตนของคนที่เข้ามาทำธุรกรรม (identity) รวมถึงสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลบน blockchain ซึ่งบางกรณีต้องการข้อมูลที่มีความเป็นส่วนตัวสูง (data privacy) และเรื่อง performance ของตัวธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเครือข่ายของ blockchain
มาคุยถึงเรื่องแรกก่อน เรื่องการรู้ตัวตนกับสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ ทั้ง Bitcoin และ Ethereum ไม่ได้ออกแบบให้มีการจัดการเรื่องนี้ ดังนั้นจะเห็นว่า เราไม่สามารถเข้าถึงหรือตรวจสอบคนที่ถือครองเงินดิจิตอลต่างๆได้อย่างชัดเจน ถึงได้มีการเสี่ยงเรื่องการฟอกเงินสูง เนื่องจากไม่มีซึ่งระบบลงทะเบียนตัวตนอย่างชัดเจน ก็ทำให้เราไม่สามารถกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลไปด้วยเช่นกัน เลยมีการเรียกเครือข่าย blockchain กลุ่มนี้ว่าเป็น permissionless blockchain และ public blockchain หรือ blockchain สำหรับเครือข่ายสาธารณะ
ธันวาคม ปี 2015 ทาง Linux Foundation ได้ออกแบบ blockchain open source platform ขึ้นมาใหม่โดยตั้งใจใช้ในทางธุรกิจโดยตรง ชื่อว่า Hyperledger โดยสร้างบนพื้นฐานที่มีระบบลงทะเบียนตัวตนและการกำหนดสิทธิ์ของสมาชิกในเครือข่ายในการเข้าถึงข้อมูลบน blockchain ซึ่งถูกเรียกว่า permissioned blockchain และ private blockchain ทำให้ในเครือข่าย blockchain นี้สามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น ผู้ตรวจสอบ (regulator หรือ auditor) ในแต่ละเครือข่ายของ blockchain บริษัทที่อยู่ในสมาชิกของกลุ่มนี้ และร่วมกันผลักดัน ได้แก่ IBM, SAP, Fujitsu,Hitachi,JP Morgan, AMEX,Baidu และ อื่นๆ มากกว่า 100 สมาชิก
ช่วงปลายปี 2016 ทาง JP Morgan ได้พัฒนา private ethereum blockchain ขึ้นมาใช้ภายในองค์กร โดยใช้ชื่อว่า Quorum โดยสร้างระบบลงทะเบียนตัวตนและกำหนดสิทธิ์ต่อยอดจาก Ethereum ที่มีการสร้างไว้เดิม เข้าใจว่าน่าจะได้ทักษะและการเรียนรู้จากการเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสมาชิกใน Hyperledger ทำให้เป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนภาพ Ethereum จากที่ถูกมองเป็น public blockchain ให้สามารถนำมาใช้ในธุรกิจองค์กรได้
ในตอนหลัง ประมาณมีนาคม ปีที่แล้ว ทาง JP Morgan, Microsoft ,Intel และบริษัทอื่นๆ อีกมากกว่า 20 บริษัท ก็ได้ร่วมกันผลักดันจัดตั้งกลุ่มองค์กร Enterprise Ethereum Alliance(EEA) ขึ้นมา ปัจจุบันก็มีสมาชิกมากกว่า 100 บริษัทแล้วเช่นกัน
โดยสรุปในตอนนี้ เวลาสนทนาให้แยกเรื่องคุยระหว่างเรื่อง blockchain ให้ออกจากเรื่อง cryptocurrency เพราะตั้งใจนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจที่กว้างกว่าแค่สกุลเงินดิจิตอล โดยเฉพาะในตอนหลังเริ่มมีการเปลี่ยนเทอมการคุยออกเป็น เทคโนโลยี DLT (Distributed Ledger Technology) แทนที่จะใช้คำว่า blockchain ไว้เล่าสู่กันฟังอีกทีว่าทำไมในคราวหน้า นอกจากนั้นสำหรับในตอนหน้า คงมาคุยกันต่อในอีกปัจจัยหนึ่งที่ยังค้างไว้คือเรื่อง performance และ นอกเหนือจากค่าย blockchain Ethereum และ Hyperledger แล้วยังมีค่ายอื่นของ blockchain อีกรึเปล่า