top of page

แนวโน้มในปี 2018 ของเทคโนโลยี Blockchain มุ่งหน้าสู่การนำมาใช้งานจริง


จากกระแสของ Blockchain ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้มีแนวคิดที่จะนำ Blockchainมาใช้ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง มี use case ที่สามารถนำไปใช้ในหลายๆภาคส่วนธุรกิจ

มุมมองการนำ blockchain มาใช้ในองค์กร ให้เลือกจากกระบวนการทางธุรกิจที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากเทคโนโลยี

องค์กรเริ่มที่มองที่จะนำเอา Blockchain มาปรับกระบวนการการทำงานบางอย่างทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังคงต้องใช้เวลา อาจไม่ได้เร็วตามที่คาดหวัง ในปี 2018 เป็นปีที่น่าจะเริ่มเรียนรู้ทำความเข้าใจในเทคโนโลยีนี้มากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถใช้วางแผนในการปรับการนำมาใช้ให้สอดคล้องกับแนวทางของธุรกิจได้อย่างถูกต้อง โดยสิ่งที่องค์กรควรต้องตระหนักถึงความเสี่ยงในการนำเทคโนโลยี Blockchainมาใช้ โดยสรุป มีดังนี้

นวัตกรรมหรือแนวทางธุรกิจใหม่ๆคือสิ่งที่ธุรกิจต้องการ โดยเฉพาะยิ่งนำมาใช้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้เปรียบการแข่งขัน แต่ควรต้องเรียนรู้ว่าเทคโนโลยี Blockchain ยังถือว่าเพิ่งเริ่มตั้งไข่ ดังนั้นการกำหนดความคาดหวังของ โปรเจคที่นำ Blockchain มาใช้ถือว่าสำคัญมาก เพราะบางทีผลลัพธ์ที่จะได้รับจะส่งผลในระยะยาวมากกว่า

ในตลาดความเข้าใจเรื่อง Blockchain ยังเป็นที่สับสนอยู่พอสมควร เพราะมีการลงรายละเอียดถึงเทอมต่างๆ(terminology)ทางเทคนิคอยู่พอควร นอกจากนี้ในช่วงหลังก็มีเทคโนโลยีที่พัฒนาจากแนวคิดของ blockchainขึ้นมาอีก (blockchain-inspired) แทนที่จะสนใจที่เทอมเหล่านั้น องค์กรควรจะโฟกัสจากตัวอย่าง use case ในแต่ละธุรกิจที่สามารถนำมาใช้ในองค์กรจะดีกว่า โดยดูว่าเทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ปัญหาปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง จะต้องออกแบบเพื่อรองรับความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การ scale ของเครือข่าย และยังคงได้ performance อยู่ในเกณฑ์ตามที่ต้องการได้อย่างไร

การที่สร้างเครือข่ายของ blockchain ให้ขยายการใช้งานในวงกว้างมากขึ้น(large scale deployment) ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ปัจจุบันระบบที่เริ่มพัฒนาใช้งาน blockchain มักจะเริ่มด้วย scale ที่เล็ก เนื่องด้วยปัจจัยที่ต้องการลดความเสี่ยงของการลงทุนและการสร้างทักษะของบุคลากรให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่พอถึงจุดที่ต้องขยายระบบเพื่อรองรับสมาชิกในเครือข่ายที่มากขึ้นกับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ก็ยังมีปัจจัยทางเทคนิคอีกหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง นอกจากทางด้านเทคนิค การจูงใจและดึงสมาชิกให้เข้ามาร่วมในเครือข่ายก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน

มุมมองเรื่องความปลอดภัยและความเสี่ยงของเทคโนโลยี Blockchain

การออกแบบเรื่องความปลอดภัยในเทคโนโลยี Blockchain ถือเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งที่ต้องอาศัยทักษะความรู้ในการความเข้าใจ ซึ่งในตลาดเวลานี้ยังมีคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่น้อย องค์กรควรเร่งสร้างทักษะทั้งในส่วนของทีมพัฒนาและทีมที่ดูแลด้านความปลอดภัยของระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานจริงโดยสามารถเข้าใจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ของเทคโนโลยี อาทิเช่น ช่องโหว่จาก smart contract code ที่พัฒนาขึ้น เป็นต้น หรือในอนาคต อาจต้องเรียนรู้วิธีการป้องกันการเจาะระบบ ผ่านเทคโนโลยี quantum computing ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าการประมวลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ในรูปแบบปัจจุบันนี้

Blockchain ถูกมองเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความปลอดภัยในการต่อสู้กับการโกง เนื่องจากข้อมูลลูกค้าไม่ว่าจะเป็น Whitelist, Blacklist หรือ ทรานแซคชันของธุรกรรมต่างๆของลูกค้าที่เกิดขึ้น ถ้าบันทึกไว้บน blockchain จะทำให้ยากต่อการปลอมแปลงแก้ไข ดังนั้นข้อมูลใน blockchain จึงเป็นหลักฐานในการใช้ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง ดังนั้นในแต่ละองค์กร ที่มีการเชื่อมโยงกับกระบวนการหลายๆอย่างที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการโกง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการป้องกันและปรายปรามการฟอกเงิน(anti money laundering-AML) การรู้จักลูกค้า(KYC) การตรวจสอบความมีตัวตน (identity verification) ระบบป้องกันการโกงภายในองค์กร(enterprise fraud management) ต่างก็มีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกันมากขึ้น

มุมมองทางภาคธุรกิจธนาคาร มีแผนที่จะนำ Blockchain มาใช้ในหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายด้าน อาทิเช่น ทางด้านธุรกิจ Trade Finance ทางด้านการบริหารจัดการตัวตน (identity management) และในส่วนอื่นๆอีก

ในปีหน้าอาจจะเห็นธนาคารมีการใช้ blockchain ในรูปแบบที่แตกต่างกันโดยมีทั้งพัฒนาระบบบนพื้นฐานของ blockchain ซึ่งได้มีการใช้งานไปบ้างแล้วเช่น ในส่วนการชำระเงินระหว่างธนาคารในรูปแบบ cross-border payment หรือการนำมาใช้ในธุรกรรมทางด้าน trade finance กับรูปแบบที่สร้างจากแนวคิดของเทคโนโลยี distributed ledger ของ blockchain (blockchain-inspired) อาทิเช่น “collapse blockchain” ซึ่งมีการออกแบบการทำงานบน node เดียว หรือแค่ สองสาม node เท่านั้น เพื่อรองรับระบบงานที่เป็น real time ทรานแซคชั่น โดยตั้งใจออกแบบใช้ภายในระบบภายในของแต่ละธนาคารเอง หรือ อย่างทาง R3 consortium ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มธนาคารใหญ่ทั่วโลก ก็ได้สร้าง open source platform ขึ้นใหม่บนพื้นฐาน distributed ledger ชื่อว่า “Corda”

ปัญหาของธนาคาร ณ วันนี้ ต้องการปรับปรุงกระบวนการตรวจสวบลูกค้ารายใหม่ (customer on boarding) ที่เข้ามาใช้บริการของธนาคาร ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการที่สำคัญคือ กระบวนการรู้จักลูกค้า(KYC) ที่ต้องสามารถระบุตัวตน(identification) และพิสูจน์ตัวตน(verification) ของลูกค้าได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิผล ซึ่งแนวโน้มการนำ blockchain มาใช้ในกระบวนการ KYC จะเพิ่มสูงขึ้นในธนาคาร เพื่อใช้ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าแต่ละราย เพื่อลดความเสี่ยงของธุรกรรมของธนาคาร อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี blockchain คงไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาของ KYC ทางธนาคารได้ทั้งหมด ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวโยง โดยเฉพาะความสมบูรณ์ของตัวข้อมูลของลูกค้า

มุมมองการใช้งานของ Blockchain ในตลาดทั่วโลก ตลาดเอเชียมีแนวโน้มที่จะนำblockchainมาใช้เร็วกว่าในตลาดอื่น

เมื่อช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ประเทศจีนได้มีการสั่งแบน สกุลเงินดิจิตอลที่เกิดขึ้นมากมายจากสตาร์ทอัพที่ระดมมาขายให้นักลงทุน ที่เรียกว่า Initial Coin Offering(ICO) ซึ่งทางธนาคารกลางของจีน ประกาศว่า ICO เป็นการระดมทุนที่ผิดกฏหมาย ถึงแม้สกุลเงินดิจิตอลทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain แต่ทางบริษัทวิจัย กลับมองว่าการสั่งแบนไม่ได้ส่งผลกระทบกับการใช้ Blockchain ในประเทศจีน แต่กลับกัน มองว่าเป็นการกระตุ้นการนำมาใช้มากขึ้น เนื่องด้วยสื่อจีนไม่ได้พูดถึงเรื่องการประกาศแบนอย่างเดียว แต่มีการสื่อสารให้ตลาดเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์และความแตกต่างของสกุลเงินดิจิตอลกับเทคโนโลยี Blockchain ทำให้เป็นไปได้ที่องค์กรต่างๆหันมาให้ความสนใจในการนำ Blockchain มาใช้สร้างนวัตกรรมหรือกระบวนการทางธุรกิจใหม่ๆเพื่อรองรับตลาดยุคดิจิตอลในอนาคต โดยมองจากประโยชน์ที่ได้รับทางด้านการสร้างความน่าเชื่อถือและปลอดภัยของข้อมูลในการทำธุรกรรมภายใต้ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) มากกว่า อาทิเช่น การจัดการข้อมูลที่มีมูลค่าสูงที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน, การบริหารสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล และ ความสามารถในการกำหนดเงื่อนไขของสัญญาของธุรกรรมในรูปแบบดิจิตอลที่เรียกว่า Smart contract

ช่วงปี2017 ที่ผ่านมา Blockchain มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยองค์กรหลายๆที่ทั่วโลก ได้เริ่มต้นทำ POC โปรเจค Blockchain กันไปพอสมควร ทางบริษัทวิจัย Forrester คาดการณ์ว่าในประเทศจีน มี Blockchain POCs มากกว่า 150 โปรเจค และเชื่อว่ามีการเริ่มใช้งานจริงแล้วที่ 30% แต่ภาพโดยรวมของทั่วโลก อยู่ที่น้อยกว่า 5% แต่ทางบริษัทวิจัยคาดการณ์ว่าในปีหน้า Blockchain โปรเจคจะถูกนำมาใช้งานจริง เพิ่มขึ้นถึง 10% อย่างไรก็ตาม ทาง CIO และทีมงานต้องพึงระวังปัจจัยหลายๆอย่างซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงของโปรเจคที่ทดลองทำจะไม่ประสบความสำเร็จ

bottom of page